สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องหาเอง เริ่มจากอาหาร สมุนไพรเป็นยา

สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องหาเอง เริ่มจากทำอาหารเป็นยา เลือกสมุนไพรเป็นอาหาร

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2560



มารู้จักเห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่กันเถอะ
                  เมื่อพูดถึงอาหารที่เราเคยรับประทาน หลายคนคงรู้จักหรือเคยได้ยินเมนู เยื่อไผ่ตุ๋นยาจีน แกงจืด   เยื่อไผ่ ผัดเยื่อไผ่ (ภาพที่ 1) แล้วรู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว เมนูเยื่อไผ่ต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับต้นไผ่ หรือนำส่วนประกอบของต้นไผ่มาใช้ แต่ทำมาจากเห็ดชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่นั่นเอง




แหล่งที่พบเห็ดร่างแหในประเทศไทย

            เห็ดร่างแหมักพบในบริเวณที่มีซากพืชทับถมหนา มีอินทรียวัตถุและความชื้นสูง เช่น สวนมะพร้าว สวนมะม่วง ป่าไผ่ สวนยางพารา เป็นต้น ในประเทศไทยพบเห็ดร่างแหได้เกือบทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือพบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ภาคตะวันออกพบบริเวณเขาอ่างฤาไน อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ภาคใต้พบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้างจังหวัดสงขลา และบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสมเด็จพระเทพฯ (ป่าพรุโต๊ะแดง/ป่าพรุสิรินธร) จังหวัดนราธิวาส

ประโยชน์ของเห็ดร่างแห
             เห็ดดำรงชีวิตเป็นผู้สลายสารอินทรีย์ในระบบนิเวศ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอื่น สำหรับเห็ดร่างแหเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง มีราคาค่อนข้างแพง ปัจจุบันมีการนำเห็ดร่างแหมาใช้รับประทานทั้งในรูปของเห็ดร่างแหสดและเห็ดร่างแหแห้ง โดยเฉพาะในประเทศจีนมีการนำเห็ดร่างแหมาผลิตเป็นสินค้าผสมในยา หรือทำเป็นเห็ดร่างแหตากแห้ง เรียกว่า เยื่อไผ่  (ภาพที่ 3) ส่วนในประเทศไทยเห็ดร่างแหที่นิยมนำมาทำเป็นอาหารมีเพียง 2 ชนิด คือ เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว และเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว  โดยการแปรรูปเห็ดร่างแหสดเป็นเห็ดร่างแหแห้ง แล้วนำเอาส่วนที่เป็นก้านสีขาวมาประกอบอาหาร (ภาพที่ 4)




         เห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเห็ดเยื่อไผ่แห้งประกอบด้วยโปรตีน ลิพิด คาร์โบไฮเดรต รวมถึงวิตามินอีกด้วย แต่ทั้งนี้ไม่ควรบริโภคเห็ดเยื่อไผ่แห้งมากเกินไปเพราะในกระบวนการ แปรรูปให้เป็นเยื่อไผ่แห้งนั้นมีการใช้สารฟอกขาว ถ้าบริโภคมากเกินไปอาจมีการตกค้างของสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ปัจจุบันในประเทศไทยได้มีการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยงเห็ดร่างแห และได้มีการส่งเสริมให้กับผู้ที่สนใจในการเพาะเห็ดร่างแหด้วย
 

เอกสารอ้างอิง

1.   ศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระบรมราชินีนาถ. 2552. เห็ดป่าในหุบเขาลำพญา. ยะลา : มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา. 156 หน้า.
2.   ไพรินทร์ กปิลานนท์ สุริยา ฤธาทิพย์ และปกขวัญ หุตางกูร. ศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดร่างแหกระโปรงสั้น (Dictyophora duplicata Fisch.) ในอาหารเหลว. วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร ปีที่ 43(2)(พิเศษ): 69:72 (2555)
3.   Anong Chandrasrikul et al. 2011.Checklist of Mushrooms (Basidiomycetes) in Thailand. 1st ed. Office of Natural Resource and Environmental Policy and Planning (ONEP), Thailand. 448 p.
4.   ศิริบุญ พูลสวัสดิ์.เยื่อไผ่ที่กินได้. (Online) Available : http://siweb.dss.go.th/dss_doc/fulltext/radio/R56.pdf (Retrieved 12/09/2014)

5.   อานนท์ เอื้อตระกูล. เห็ดเยื่อไผ่ เห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สำคัญของไทย. (Online) Available : http://www.anonbiotec.com/Bamboomushroom.html (Retrieved 1/09/2014)

 

เขียนโดย biology เมื่อ January 5, 2015. หัวข้อ Uncategorized, บทความปี 2557
Cr. วิลาส รัตนานุกูล นักวิชาการสาขาชีววิทยา